• ประเมินมูลค่าหุ้นอย่างไร ให้การลงทุนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การประเมินมูลค่าหุ้นเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นกับราคาในตลาดปัจจุบัน ถือเป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจ ให้การลงทุนในหุ้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถค้นหาหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต



ทำไมต้องประเมินมูลค่าหุ้น?


  • เพื่อค้นหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น: จุดประสงค์ของนักลงทุนมักมีความต้องการเข้าซื้อหุ้นของกิจการที่มีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และพิจารณาขายเมื่อราคาตลาดของหุ้นดังกล่าวมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง
  • ค้นหาหุ้นที่คุ้มค่า: ช่วยให้นักลงทุนค้นหาหุ้นที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่การลงทุน
  • สร้างพอร์ตลงทุนที่แข็งแกร่ง: การประเมินมูลค่าหุ้นช่วยให้เห็นภาพรวมของการลงทุน มีส่วนช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกหุ้นในการลงทุนได้อย่างหลากหลาย และกระจายความเสี่ยง
  • ลดความเสี่ยงในการลงทุน: ป้องกันการเข้าซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาของตลาดสูงกว่าความเป็นจริง เพราะในบางกรณีหุ้นของบางกิจการอาจเป็นหุ้นที่น่าลงทุนมาก แต่ในขณะนั้นหากราคาหุ้นในปัจจุบัน สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น เมื่อราคาหุ้นในตลาดปรับตัวลงก็จะส่งผลให้นักลงทุนได้รับผลกระทบขาดทุนจากการเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นได้



วิธีการประเมินมูลค่าหุ้น


  1. วิเคราะห์งบการเงิน: ศึกษางบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินของบริษัท
  2. วิเคราะห์อุตสาหกรรม: ศึกษาอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจ เพื่อประเมินแนวโน้มการเติบโตและปัจจัยเสี่ยง
  3. เลือกวิธีการประเมินมูลค่า: เลือกวิธีการที่เหมาะสมกับลักษณะของบริษัทและข้อมูลที่มี
  4. คำนวณมูลค่าพื้นฐาน: ทำการคำนวณมูลค่าหุ้นตามสูตรที่เกี่ยวข้อง
  5. เปรียบเทียบกับมูลค่า: เปรียบเทียบมูลค่าหุ้นที่คำนวณได้กับราคาตลาดปัจจุบัน หรือมูลค่าของหุ้นตัวนั้นในอดีต ประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุน



สูตรคำนวณการประเมินมูลค่าหุ้นเบื้องต้น



  • P/E Ratio: เป็นหนึ่งในอัตราส่วนที่นักลงทุนนิยมใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้นเบื้องต้น โดยเปรียบเทียบราคาหุ้นปัจจุบันกับกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) เพื่อดูว่าราคาหุ้นนั้นสูงหรือต่ำเมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัท 
  • P/BV Ratio: เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบราคาต่อหุ้นกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เพื่อต้องการทราบว่าราคาหุ้นในขณะนั้นสูงหรือต่ำเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชี
  • Dividend Discount Model (DDM): เป็นวิธีประเมินมูลค่าของราคาหุ้นในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาหุ้นที่นักลงทุนคาดหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์จากในอนาคต โดยพิจารณาจากเงินปันผลที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น เพื่อคาดการณ์เงินปันผลที่จะได้รับในอนาคต แต่ข้อจำกัดวิธีนี้จะไม่เหมาะกับหุ้นของกิจการที่จ่ายปันผลน้อย หรือไม่เคยจ่ายปันผลเลย
  • Discounted Cash Flow (DCF): วิธีนี้เป็นการคำนวณมูลค่าของบริษัทในปัจจุบันโดยพิจารณาจากกระแสเงินสดอิสระที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ไปจนถึงการคาดการณ์อัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นต้องการ หรือเพื่อคาดการณ์ว่าหากนักลงทุนซื้อหุ้นนี้แล้ว จะได้รับผลประโยชน์จากกระแสเงินสดอิสระของกิจการเท่าไหร่



ตัวอย่างการประเมินราคาหุ้น


การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี P/E Ratio


สมมติว่าหุ้น A มีราคาอยู่ที่ 100 บาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น (ESP) อยู่ที่ 10 บาท

จากสูตรคำนวณค่า P/E Ratio = ราคาหุ้น ÷ กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)

P/E Ratio ของหุ้น A จะเท่ากับ 100 ÷ 10 = 10 เท่า



การเปรียบเทียบค่าของ P/E Ratio


1.เปรียบเทียบกับค่า P/E ของหุ้นตัวนั้นในอดีต


2.เปรียบเทียบกับค่า P/E ของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือธุรกิจคล้ายคลึงกัน


  • หากค่า P/E ของหุ้นที่ต้องการเข้าซื้อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือต่ำกว่าค่า P/E ในอดีต หมายความว่าในขณะนั้นหุ้นตัวนี้ยังมีราคาถูกอยู่ สามารถนำไปพิจารณาหาปัจจัยอื่น ๆ เพื่อการลงทุนได้


  • แต่หากค่า P/E ของหุ้นที่ต้องการเข้าซื้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือสูงกว่าค่า P/E ในอดีต อาจหมายความว่าราคาหุ้นในขณะนั้นราคาแพงเมื่อเทียบกับกำไรล่าสุดของบริษัท แต่หุ้นบางตัวที่ค่า P/E สูง ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่แพงเสมอไป เพราะหุ้นตัวนั้นอาจจะอยู่ในช่วงเติบโตของกิจการ และนักลงทุนมักจะคาดหวังการเข้าลงทุนเพื่อให้หุ้นตัวนั้นสามารถเติบโตได้สูงมากขึ้นไปอีกในอนาคต โดยนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหุ้นเติบโตได้เลยที่ >>https://bit.ly/3Z2iwwM 


นอกจากอัตราส่วนที่เป็นตัวช่วยให้ทราบถึงมูลค่าของหุ้นที่แท้จริง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณก่อนการตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นแล้ว นักลงทุนก็ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การประเมินมูลค่าของหุ้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยปัจจัยที่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 



ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา นอกเหนือจากการประเมินมูลค่าหุ้น


  • ปัจจัยเชิงคุณภาพ: พิจารณาถึงคุณภาพ ประสบการณ์ ของการบริหารจัดการ รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ของบริษัท ล้วนแต่จะมีส่วนช่วยทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  • ปัจจัยภายนอก: พิจารณาปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัท เช่น สภาพเศรษฐกิจ นโยบายของภาครัฐ และการแข่งขัน หรือการได้เปรียบเชิงอุตสาหกรรม ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงส่วนนี้ได้ นักลงทุนจึงควรติดตามข่าวสารและศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบเสมอก่อนการตัดสินใจลงทุน
  • ความเสี่ยง: ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นตัวนั้น ๆ ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้



ข้อควรระวังในการประเมินราคาหุ้น 


  • การประเมินมูลค่าหุ้นเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจ: นักลงทุนไม่ควรตัดสินใจลงทุนจากผลลัพธ์การประเมินมูลค่าหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะการประเมินมูลค่าหุ้นจากตัวเลขในงบการเงินเป็นข้อมูลย้อนหลัง ไม่ได้สะท้อนแนวโน้ม และโอกาสทางธุรกิจในอนาคต นักลงทุนจึงควรพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วร่วมด้วย


  • เลือกใช้ข้อมูลทางการเงินในการประเมินมูลค่าหุ้นจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้: เพราะข้อมูลทางการเงินที่บริษัทเปิดเผยอาจมีการบิดเบือนหรือไม่ครบถ้วนด้วยเหตุผลทางธุรกิจบางประการ ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกแหล่งที่มาของข้อมูลทางการเงินในรูปแบบ “งบการเงินฉบับเต็ม” จากแหล่งข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้


โดยสามารถเข้าดูงบการเงินของกิจการที่ต้องการลงทุนในหุ้นได้ที่เว็บไซต์โดยตรงของ Settrade Streaming >>https://www.settrade.com/ เลือกค้นหารายชื่อของกิจการ เพื่อเลือกดูข้อมูลงบการเงินหุ้นของกิจการที่ต้องการค้นหาได้ 


  • ตลาดหุ้นมักมีความผันผวนอยู่เสมอ: ส่งผลให้ราคาหุ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะประเมินมูลค่าหุ้นได้แม่นยำแค่ไหน ก็ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ต้องการได้ การติดตามข่าวสาร และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อหมั่นฝึกฝนการประเมินราคาหุ้นอยู่เสมอ จะสามารถทำให้การลงทุนในหุ้นนั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น




หมายเหตุ:

*การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน


สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าหุ้น ได้ที่แหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้ :

Money Buffalo. หนังสือ เข้าใจหุ้นก่อนเข้าซื้อเทรดหรือถือก็ทำกำไร

Money Buffalo. ประเมินมูลค่าหุ้น แบบง่าย ๆ ฉบับนักลงทุนมือใหม่ | ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน EP13

, https://bit.ly/3MpmWpY   

ลงทุนแมน. รวม 4 วิธี ประเมินมูลค่าหุ้น,https://bit.ly/3WX44U4