• HOW TO พิจารณาล้างพอร์ต?

จากประโยคที่คุ้นหู “ล้างมือ-กินร้อน-ช้อนเรา” เหตุผลก็เพื่อความสะอาดและป้องกันอันตรายเข้าสู่ร่างกาย แล้วในมุมของนักลงทุนล่ะ ถ้าอยากป้องกันอันตรายเข้าสู่สภาพคล่องทางการเงิน จะทำอย่างไรได้บ้าง จึงเกิดเป็นคำถามที่นักลงทุนหลายคนสงสัย “แล้วเมื่อไหร่..ที่เราต้องล้างพอร์ต?”


ในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนส่วนใหญ่ ไวรัสโควิด-19 ยังกลายมาเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตระดับโลกไม่ว่าจะเป็น อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น, สายการบินต้องสั่งหยุดบิน, สวนสาธารณะถูกสั่งปิด, กิจกรรมบันเทิงถูกยกเลิก ซึ่งยังไม่นับวิกฤตราคาน้ำมันดำดิ่งที่ตามมาสมทบให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก จนเกิดเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์โลก และหากจะพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนมีผลตอบแทน (Year-to-date) ที่ติดลบทั้งสิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เผยให้เห็นตัวเลขติดลบมากกว่า 10% โดย SET Index เอง ก็มีตัวเลขผลตอบแทนติดลบไปแล้วกว่า 20% เช่นกัน


จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ส่งผลต่อตัวเลขในพอร์ตของนักลงทุนหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนที่ถือคติ ‘ไม่ขาย = ไม่ขาดทุน’ ที่มักจะไม่กล้าตัดใจขายทิ้งเมื่อหุ้นราคาตกลงมาแรงๆ เพราะคิดว่าอีกไม่นานราคาหุ้นจะวิ่งกลับมาที่เดิม หรือหมายรวมถึงคนที่ ‘คัทไม่ทัน’ จนต้องติดดอยไปตามๆ กัน และเมื่อเวลาผ่านไปไม่มีวี่แววที่ราคาจะวิ่งกลับมา จึงเกิดเป็นคำถามในใจของนักลงทุนหลายๆ คน ‘จะขายหุ้นล้างพอร์ตเลยดีไหม?’ หรือ ‘ตัวฉันคงไม่เหมาะกับตลาดหุ้น’ ในที่สุด


และการหาคำตอบจากคำถามเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ต้องตอบคำถามง่ายๆ กับตัวเองให้ได้ว่า

  1. เรามีสภาพจิตใจที่พร้อมรับมือกับสภาวะขาดทุนได้มากน้อยเพียงใด? โดยสามารถทำได้จากการทบทวนและพิจารณาตัวเองอย่างถี่ถ้วน หรือจากการทำแบบประเมินความเสี่ยงที่รับได้ในการลงทุน (แบบประเมินเดียวกันกับแบบฟอร์มเปิดพอร์ตหุ้น) เพื่อวางแผนในการจัดการพอร์ตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเอง
  2. ทบทวนวัตถุประสงค์ในการลงทุนในหุ้น เช่น ลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หรือลงทุนระยะยาวเพื่อหวังปันผล เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้พิจารณาข้อมูลประกอบกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเรา เช่น หากเราพิจารณาว่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้จะกินระยะเวลานานมากกว่า 1 ปี และเรามีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น เราอาจจะพิจารณาล้างพอร์ตเมื่อเห็นว่าตัวเลขติดลบสูง และวางแผนปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ หรือหากเราวางเป้าหมายเพื่อลงทุนระยะยาว เราสามารถพิจารณาทยอยเก็บหุ้นบางตัว เพื่อรอสถานการณ์คลี่คลายและเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น เพราะเมื่อเทียบเคียงดูจากเหตุการณ์ในอดีตมักจะพบว่า ‘ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ’ ยกตัวอย่างเช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 หุ้นปูนใหญ่ตัวหนึ่งต้นปีมีราคาหุ้นราวๆ 220 บาท พอปลายปีราคาหุ้นตกลงมาเหลือประมาณ 90 บาท (ลดลงไปกว่า 60%) แต่หลังจากนั้น 4 ปี ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเกือบ 450 บาท คิดเป็นผลตอบแทนราวๆ 400% เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเป็นทางเลือกล้างพอร์ตแล้วรอจังหวะในการเก็บหุ้น หรือเลือกที่จะไม่ล้างพอร์ตแต่ทยอยเก็บสะสมหุ้นเพิ่มเพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีขึ้นในอนาคตก็ล้วนแล้วแต่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักลงทุนระยะยาวคงต้องอาศัยการศึกษาพื้นฐานบริษัทเพื่อพิจารณาความมั่นคงประกอบการตัดสินใจด้วยเช่นกัน
  3. ประเมินสภาพคล่อง นอกเหนือจากสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างสภาพจิตใจของนักลงทุนและวัตถุประสงค์ในการลงทุนแล้ว ‘สภาพคล่อง’ ของผู้ลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราพิจารณาแล้วว่าวิกฤตดังกล่าวจะกินระยะเวลามากกว่า 1 ปี นั่นหมายความว่าการลงทุนในหุ้นจะต้องไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้ลงทุน และผู้ลงทุนอาจจำเป็นต้องตัดขาดทุนและล้างพอร์ตเพื่อรักษาสภาพคล่องในสถานการณ์วิกฤตก็เป็นได้