• ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุน ทำไมราคาหุ้นถึงขึ้นลงได้?


สิ่งที่นักลงทุนล้วนคาดหวังจาก “การลงทุนในหุ้น” คือ “ผลตอบแทน” โดย

ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่เงินปันผล และส่วนต่างราคา ซึ่งอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดผลตอบแทนของนักลงทุนได้ก็คือ “ราคาหุ้น” 


เพราะหากนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นมาในราคาที่ถูกกว่าราคาขาย 

“ส่วนต่างราคา” ตรงนั้นก็จะเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน

วันนี้ บล. Zcom จึงอยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ ว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น หรือราคาหุ้นขึ้นลงได้อย่างไร เพื่อให้การตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้นครั้งต่อไป เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ปัจจัยภายใน


ผลประกอบการ: บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามปกติแล้วจะประกาศผลประกอบการออกมาทุก ๆ ไตรมาส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งหากผลประกอบการในขณะนั้นมีตัวเลขของการเติบโต เป็นไปในทางที่ดี ก็จะมีผลทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางกลับกันหากผลประกอบการของบริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความไม่น่าไว้วางใจ นักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะทยอยขายหุ้นกันออกไป จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยจะอธิบายถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาหุ้นอย่าง “แรงซื้อแรงขาย” อีกครั้งในย่อหน้าท้ายสุด


โครงสร้างทางการเงิน: บริษัทที่สามารถบริหารจัดการ รายรับ รายจ่าย อย่างมีประสิทธิภาพ หนี้สินสะสมจากระบบน้อย จะทำให้กระแสเงินสดสามารถหมุนเวียนได้อย่างไม่ติดขัด แต่ถ้าหากบริษัทมีหนี้สินมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร และทำให้ราคาหุ้นลดลงได้


แผนการบริหารจัดการบริษัท: บุคลากรและประสบการณ์ การบริหารจัดการที่มีคุณภาพ มักสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี


แผนธุรกิจ: บริษัทที่มีการวางแผนธุรกิจดี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม การให้บริการใหม่ ๆ ออกมาไม่หยุดนิ่ง หมายความว่าบริษัทยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกในอนาคต ส่งผลต่อการสร้างความไว้วางใจของนักลงทุนเดิม และดึงดูดการเข้าซื้อหุ้นมากขึ้นจากนักลงทุนหน้าใหม่ ๆ อันมีผลทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มไม่เกิดความผันผวน และอาจปรับตัวสูงขึ้นตามแผนธุรกิจที่ถูกพัฒนาปล่อยออกมา



ปัจจัยภายนอก


สภาวะเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจโดยรวมของโลกและของประเทศ ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน หากเศรษฐกิจขยายตัวดี ค่า GDP เป็นบวกเศรษฐกิจมีการเติบโต โดยทั่วไปแล้วราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจภาพรวมเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี นักลงทุนเกิดความลังเลใจในการซื้อ-ขายหุ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อสภาพคล่องของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงตามไปด้วย


อุตสาหกรรม: หากภาคอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาขึ้น มีการเติบโต มีความต้องการซื้อจากผู้อุปโภคบริโภคจำนวนมาก สามารถขยายการผลิตสินค้าและบริการภายในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นได้ เหตุผลดังกล่าวจะทำให้หุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพื่อเข้าซื้อเป็นจำนวนมาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มูลค่าของหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้นได้


อัตราดอกเบี้ย: การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง จะส่งผลต่องบการเงินของบริษัทโดยตรง ในด้านต้นทุนทางการผลิต ความสามารถในการชำระหนี้ และส่งผลต่อผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือเงินฝากธนาคาร สินทรัพย์เหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการปรับอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนอาจมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน จนกระแสเงินสดไหลเวียนออกจากตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก ผลักดันให้ราคาหุ้นลดลงตามไปด้วย


นโยบายรัฐบาล: ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภาษี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการกำกับดูแลธุรกิจ หรือการผูกขาดทางด้านสัมปทานของสินค้า บริการ ต่างมีอิทธิพลต่อต้นทุนในผลการดำเนินงานและผลกำไรของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหุ้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยนโยบายเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อหุ้นในแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความผันผวนของราคาหุ้นจากมาตรการหรือนโยบายของภาครัฐในขณะนั้นได้


ข่าวสาร และเหตุการณ์สำคัญ: ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรืออุตสาหกรรม จะส่งผลต่อการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัททั้งสิ้น และมักมีผลต่อราคาหุ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งในและนอกประเทศ ก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเช่นเดียวกัน เช่น การเกิดสงคราม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่สถานการณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลก เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก



ภาพกราฟแสดง : SET Index P/BV* 

วันที่ 1/1/1987 – 19/5/2021



ที่มา: www. Bloomberg.com

หมายเหตุ : P/BV หมายถึง อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี บอกให้ทราบว่า ราคาหุ้น ณ ขณะนั้น สูงเป็นกี่เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี



แรงซื้อและแรงขาย


การซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็เปรียบเสมือนการซื้อ-ขายสินค้าอื่น ๆ หากมีความต้องการซื้อของนักลงทุนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยที่ส่งผลดีต่อหุ้นตัวนั้น ก็จะทำให้แรงเข้าซื้อมากกว่าแรงขาย ราคาหุ้นตัวนั้นก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

แต่ในทางตรงกันข้ามหากเกิดเหตุการณ์บางอย่าง หรือปัจจัยบางสิ่งจากที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้หุ้นตัวนั้นได้รับผลกระทบในทางที่ไม่ดี นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นกับบริษัท ส่งผลให้เกิดการเทขายมากกว่าการเข้าซื้อ นักลงทุนส่วนมากก็จะยินยอมขายหุ้นในราคาที่ถูกลง เพื่อตัดจุดขาดทุนที่ยอมรับได้ จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง



 

“ราคาหุ้น” เปรียบเสมือนตัวสะท้อนความคาดหวังผลตอบแทนของนักลงทุน ที่จะได้รับจากบริษัทในอนาคต หรือแม้แต่ต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นการทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อราคาหุ้น เตรียมความรู้ก่อนการตัดสินใจ และหาจังหวะเข้าซื้อ-ขายที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างผลประโยชน์ที่มั่นคงและยั่งยืนจาก “การลงทุนในหุ้น” ได้ในระยะยาว




หมายเหตุ:

*บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้น ไม่ใช่คำแนะนำเพื่อการลงทุน

**การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน




ที่มา:

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.ราคาหุ้นมาจากไหน...ใครบอกที,https://bit.ly/3YKl6Gf 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.GDP คืออะไร? ทำไมกระทบตลาดหุ้นทุกที?

,https://bit.ly/3AgI27D 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.COVID ทำให้บริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนไปอย่างไร,https://bit.ly/3YJD3WD